โครงการบริการพันธุ์พืช สำหรับใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์
หลักการและเหตุผล
การศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์ในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์มีความเกี่ยวข้องอยู่กับพืชตลอดเวลาทั้งทางตรงและทางอ้อม สถานศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับพื้นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งการจัดการเรียนการสอนวิชาพฤกษศาสตร์ได้จัดให้มีการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการในห้องเรียนตลอดจนการศึกษานอกสถานที่ ขณะเดียวกันสถานศึกษาส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาในการขาดแคลนตัวอย่างพืชที่มีชีวิตเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำแนกพืช ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้นักเรียนนิสิตและนักศึกษาได้รู้จักพืชที่จะศึกษาอย่างเข้าใจลึกซื้ง
อย่างไรก็ตามจากสภาพปัญหาในการขาดแคลนตัวอย่างพืชเพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ไม่เพียงพอแก่ผู้เรียนหรือหาตัวอย่างพืชที่มีความจำเป็นในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ไม่ได้เนื่องจากไม่สามารถปลูกเลี้ยงได้ในสถานศึกษานั้น ๆ หรือไม่มีผู้ที่ทำการผลิตพืชเหล่านั้น จำหน่ายให้แก่สถานศึกษามากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมพันธุ์พืชที่หายากและมีความจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนทางด้านพฤกษศาสตร์พื้นฐานไว้บริการสถานศึกษาต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องการใช้ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สอน และช่วยทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดริเริ่มที่ดีมีใจรักในการที่จะศึกษาวิชาการทางด้านพฤกษศาสตร์ซึ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนนักพฤกษศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงอีกเป็นจำนวนมาก
จากปัญหาดังกล่าวศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชที่ใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ โดยการรวบรวมและขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนพันธุ์พืช เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ของสถานศึกษาทั่วประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อให้สถานศึกษามีพันธุ์พืชที่ใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเอง
2. เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์
3. เพื่อให้นักเรียนนิสิตและนักศึกษามีตัวอย่างพันธุ์พืชที่มีชีวิต สำหรับศึกษาทางพฤกษศาสตร์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สถานศึกษามีพันธุ์พืชที่ใช้ในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเอง
2. สามารถลดปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชในการเรียนการสอนทางพฤกษศาสตร์
3. นักเรียนนิสิตและนักศึกษามีตัวอย่างพันธุ์พืชที่มีชีวิต สำหรับศึกษาทางพฤกษศาสตร์
|